ประวัติและประโยชน์ของโกล์ดฟิวเจอร์
ตลาดฟิวเจอร์เริ่มมีการก่อตั้งครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1848 ที่มหานครชิคาโก้ประเทศสหรัฐอเมริกาโดยกลุ่มพ่อค้ากลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกตนเองว่าคณะกรรมการชิคาโก้ The Chicago Board of Trade (CBOT) ต่อมาในปี ค.ศ.1861 CBOT เริ่มใช้เหรียญทองคำมาเป็นสินค้ามาตรฐานอ้างอิงในการซื้อขายเนื่องจากภาวะสงครามกลางเมือง (Civil War) ในขณะนั้น และหลังจากนั้นก็เริ่มมีการใช้สินค้ามาตรฐานอ้างอิงตัวอื่นๆตามมาเช่น ถั่วเหลือง, ข้าวโพด, ข้าวสาลี, อัตราดอกเบี้ย, อัตราแลกเปลี่ยนและอื่นๆอีกมากมาย
สำหรับประเทศไทยตลาดล่วงหน้าที่จัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกก็คือ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย(AFET) ซึ่งเป็นองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าปี พ.ศ.2542 ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าได้เริ่มเปิดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2547 สำหรับโกล์ดฟิวเจอร์หรือสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้าในประเทศไทยนั้น เริ่มเปิดดำเนินการซื้อขายครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552 ภายใต้การกำกับดูแลซื้อขายของ บริษัท ตลาดอนุพันธุ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TFEX ที่จัดตั้งขึ้นโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามพระราชบัญญัติซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ.2546
ประโยชน์ที่ได้รับจากโกล์ดฟิวเจอร์
ผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับทองคำสามารถใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงเนื่องจากราคา(Hedging Instruments)ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีต้นทุนที่สมเหตุสมผล
ผู้ประกอบการและผู้ลงทุนมีแหล่งข้อมูลที่สะท้อนความคาดหวังของผู้ที่อยู่ในตลาดที่มีต่อราคาทองคำในอนาคต(Price Discovery)ส่งผลให้ผู้ลงทุนและผู้ประกอบการสามารถวางแผนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้ประกอบการและผู้ลงทุนมีโอกาสในการเก็งกำไร(Speculating Instruments)ภายใต้ระบบการซื้อขายที่มีความยุติธรรม โปร่งใสและมีสภาพคล่อง รวมทั้งมีความมั่นใจในระบบการชำระราคาสำหรับทุกธุรกรรมที่เกิดขึ้นในตลาดอนุพันธุ์ที่จะมีสำนักหักบัญชีที่มีความมั่นคงเป็นคู่สัญญา